โลโก้เว็บไซต์ มทร.ล้านนา จับมือ พด.เขต 6 เชียงใหม่ จัดกิจกรรมวันสิ่งแวดล้อมไทย และวันดินโลก ประจำปี 2566 | กองบริหารงานบุคคล มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา

มทร.ล้านนา จับมือ พด.เขต 6 เชียงใหม่ จัดกิจกรรมวันสิ่งแวดล้อมไทย และวันดินโลก ประจำปี 2566

เผยแพร่เมื่อ : จันทร์ 4 ธันวาคม 2566 โดย วิทยา กวีวิทยาภรณ์ จำนวนผู้เข้าชม 1716 คน

ยังไม่มีคะแนนสำหรับบทความนี้ ผู้อ่านสามารถให้คะแนนบทความได้จากปุ่มข้างใต้

    วันที่ 4 ธันวาคม 2566 กองพัฒนานักศึกษา ร่วมกับ หลักสูตรวิศวกรรมสิ่งแวดล้อมคณะวิศวกรรมศาสตร์ มทร.ล้านนา และสำนักงานพัฒนาที่ดินเขต 6 เชียงใหม่ กรมพัฒนาที่ดิน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จัดกิจกรรมวันสิ่งแวดล้อมไทย และวันดินโลก ประจำปี 2566 ภายใต้หัวข้อ “Soil and Water a source of life ดินดี น้ำสมบูรณ์ เกื้อกูลชีวิต” เพื่อน้อมรำลึกถึงวันคล้ายวันพระราชสมภพ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และเผยแพร่ความรู้ศาสตร์พระราชาด้านการพัฒนาที่ดินและน้ำ รวมถึงสถานการณ์ด้านสิ่งแวดล้อมของไทยให้แก่คณาจารย์ บุคลากร นักศึกษาได้รับทราบและตระหนักถึงปัญหาที่กำลังเกิดในปัจจุบัน เพื่อร่วมกันอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมให้คงอยู่อย่างยั่งยืนต่อไป ในการนี้ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.จัตฤทธิ์ ทองปรอน รักษาราชการแทนอธิการบดี มทร.ล้านนา ได้เป็นประธานเปิดงาน โดยมีรองศาสตราจารย์ ดร.ธีระศักดิ์ อุรัจนานนท์ รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการและกิจการนักศึกษาเป็นผู้กล่าวถึงวัตถุประสงค์การจัดงาน ณ โรงอาหารกลาง มทร.ล้านนา และในโอกาสเดียวกันนี้ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.จัตตุฤทธิ์ ได้มอบผลิตภัณฑ์เพื่อการศึกษาของมหาวิทยาลัยให้แก่ นายทนงศักดิ์ ปะระไทย ผู้แทนจากสำนักงานพัฒนาที่ดินเขต 6 จังหวัดเชียงใหม่ ที่ได้เข้าร่วมจัดกิจกรรม
สำหรับกิจกรรมวันภายในงานประกอบด้วยการแสดงนิทรรศการให้ความรู้เกี่ยวกับปัญหาสิ่งแวดล้อม นิทรรศการเฉลิมพระเกียรติพระราชสมภพพระบาทสมเด็จพระชนกาธิเบศรมหาภูมิพลอุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ด้านการอนุรักษ์ฟื้นฟูความสมดุลของธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นิทรรศการแสดงสื่อองค์ความรู้เพื่อการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช อพสธ.มทร.ล้านนา การเสวนาปัญหาสิ่งแวดล้อม และการรับซื้อขยะรีไซเคิล

“วันดินโลก (World Soil Day)” คือ วันที่ 5 ธันวาคม เป็นวันสำคัญที่นักปฐพีวิทยาทั่วโลก 60,000 คน จะเฉลิมฉลองเป็นประจำทุกปี ซึ่งนักปฐพีวิทยาของไทยทุกคนภาคภูมิใจ เนื่องจากวงการปฐพีวิทยานานาชาติ มีฉันทานุมัติเลือกวันที่ 5 ธันวาคมของทุกปี ซึ่งตรงกับวันคล้ายวันพระราชสมภพของ พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เป็นวันดินโลก และนักปฐพีวิทยาของไทยมีส่วนร่วมในการเชิดชูพระอัจฉริยภาพด้านการอนุรักษ์ และพัฒนาทรัพยากรดินขององค์พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร

การเกิดขึ้นของ “วันดินโลก (World Soil Day)” มีความเกี่ยวข้องกับกรมพัฒนาที่ดิน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สมาคมดินและปุ๋ยแห่งประเทศไทย สหภาพวิทยาศาสตร์ทางดินนานาชาติ (International Union of Soil Science : IUSS) องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (Food and Agriculture Organization : FAO) และองค์การสหประชาชาติ (United Nations : UN) จึงควรบันทึกจุดเริ่มต้นและความเป็นมาของ “วันดินโลก” เพื่อให้คนรุ่นหลังได้รับทราบอย่างถูกต้อง

แนวความคิดของการจัดตั้งวันดินโลก

เริ่มต้นจากที่มีการประชุมวิทยาศาสตร์ทางดินของโลก ครั้งที่ 17 ณ กรุงเทพมหานคร ในปี 2545 มีนักวิทยาศาสตร์ทางดินจากทั่วโลกมาร่วมประชุม ภายในงานมีการจัดนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และพระราชกรณียกิจที่เกี่ยวข้องกับทรัพยากรดิน รวมถึงการจัดตั้งโครงการพระราชดำริในภูมิภาคต่างๆ ของประเทศ
ซึ่งนิทรรศการดังกล่าว ทำให้ผู้เข้าร่วมประชุมประจักษ์ถึงพระวิสัยทัศน์ในการบริหารทรัพยากรดินอย่างยั่งยืน โดยทรงให้ความสำคัญกับทรัพยากรดิน ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่สนพระราชหฤทัยในวิทยาศาสตร์ทางดิน และผลสำเร็จจากการบริหารจัดการดินอย่างต่อเนื่องของพระองค์ เป็นที่ยอมรับอย่างเป็นรูปธรรมทั้งในประเทศและระดับนานาชาติ
ในการประชุมครั้งนี้ได้มีการหารือเรื่องการจัดตั้ง “วันดินโลก” โดยที่ประชุมคณะกรรมการสหภาพวิทยาศาสตร์ทางดินนานาชาติ มีมติให้วันที่ 5 ธันวาคม ซึ่งเป็นวันคล้ายวันพระราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เป็นวันดินโลก เพื่อสดุดีพระเกียรติคุณของพระองค์ โดยใช้วันนี้เป็นวันรณรงค์ให้ชาวโลกได้ตระหนักถึงความสำคัญของทรัพยากรดิน ที่มีต่อความอยู่รอดของมวลมนุษยชาติและสภาพแวดล้อม และความจำเป็นต้องมีการจัดการทรัพยากรที่ดินอย่างยั่งยืน

ทำไมต้องมีวันดินโลก

สร้างความตระหนักถึง…ความสำคัญของดิน “ดิน” เป็นทรัพยากรธรรมชาติที่าสำคัญต่อการดำรงชีพของสิ่งมีชีวิตทุกชนิดบนโลก ในด้านการพัฒนาการเกษตร ดินเป็นแหล่งผลิตอาหาร ยารักษาโรค เครื่องนุ่งห่ม และเชื้อเพลิง ดินช่วยพัฒนาระบบนิเวศให้มีความยั่งยืน เอื้อให้เกิดความหลากหลายทางชีวภาพ ช่วยดูดซับคาร์บอน และบรรเทาผลกระทบจากสภาวะการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ มนุษย์ใช้ดินเป็นที่ตั้งของที่อยู่อาศัยและเมือง เป็นที่ทิ้งขยะ เป็นตัวกรองและทำน้ำให้สะอาด

ดินนับวันจะเสื่อมโทรมลง…หากขาดการอนุรักษ์และพัฒนาที่ดินอย่างยั่งยืน ความต้องการใช้ทรัพยากรดินมีเพิ่มมากขึ้น ในขณะที่ ดินเป็นทรัพยากรที่มีอยู่จำกัด และไม่สามารถนำกลับมาทดแทนใหม่ หากมีการเสื่อมสลายไป การใช้ที่ดินผิดประเภท ขาดการอนุรักษ์ และป้องกันปัญหาที่ถูกต้อง จะก่อให้เกิดปัญหาความเสื่อมโทรมของดินที่ส่งผลต่อคุณภาพ กำลังผลิตของดิน และกระทบต่อความมั่นคงทางอาหารของมนุษย์ ซึ่งหากดินมีความเสื่อมโทรมที่รุนแรงมาก การฟื้นฟูดินให้สามารถนำกลับมาใช้ประโยชน์เหมือนเดิมจะทำได้ยากขึ้นด้วย

วันดินโลก…วันสำคัญเพื่อการรณรงค์เกี่ยวกับดิน  สหประชาชาติ (UN) ได้ประกาศอย่างเป็นทางการให้วันที่ 5 ธันวาคมของทุกปี เป็น “วันดินโลก” (World Soil Day) เพื่อใช้เป็นโอกาสในการขับเคลื่อนกิจกรรมการรณรงค์และเผยแพร่ความรู้ทางด้านดิน และสร้างความตระหนักถึงความสำคัญของดิน ทั้งในระดับประเทศและระดับโลกต่อมนุษยชาติและสภาพแวดล้อมอย่างเป็นรูปธรรมและต่อเนื่อง

Cr. https://www.nxpo.or.th/th/3007/








ออกแบบและพัฒนาโดย สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา

Facebook Messenger icon